หลังได้อธิบายประเภทของงานจับมือฝั่งญี่ปุ่น รวมไปถึงวิธีลงบัตรผ่าน ในบทความ  [Guide] ทำความรู้จักกับงานจับมือของ AKB48 รวมถึงวิธีเข้าร่วมงานจับมือเดี่ยวอย่างละเอียด! (Part วิธีลงบัตรจับมือ)  กันไปแล้ว ในส่วนนี้จะพูดถึงบรรยากาศในงาน รวมไปถึงการเตรียมตัวก่อนไปลุยวันงานกันแบบละเอียดยิบชนิดที่ต่อให้ไปครั้งแรกคนเดียวก็ไม่ต้องกังวลเลยทีเดียว!

ที่มาภาพ

 

เตรียมตัว

 

เส้นทางสถานที่จัดงาน

สำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับการเดินทางในประเทศญี่ปุ่น ขอแนะนำพวก เว็บค้นหาเส้นทางการเดินทางเพื่อจะได้ไม่หลงค่ะ ควรเลือกที่พักที่เดินทางได้สะดวก สำหรับคนที่อยากไปกินดื่มกับเพื่อนๆ หลังเลิกงานจับมือ อย่าลืมศึกษารถไฟเที่ยวสุดท้ายของที่พักตัวเองเผื่อไว้นะคะ

Makuhari Messe (幕張メッセ) / จังหวัด Chiba
เส้นทางแนะนำ : ขึ้นรถไฟJR สาย Keiyo (京葉線) ลงสถานี Kaihim Makuhari (海浜幕張駅) 
 ศึกษาเส้นทางเพิ่มเติม → www.m-messe.co.jp/en/access

● งานจับมือมักจะจัดที่นี่บ่อยที่สุด
● เดินจากสถานีประมาณ 10 นาที
สถานที่จัดงานมี 2 ฟาก คือ Hall 1-8 กับ Hall 9-12 ต้องระวัง!
มีบัสต่อไปยังสนามบินนาริตะตรงหน้า Hall 1-8 สำหรับคนที่ Check-Out โรงแรมวันเดียวกันกับงานจับมือ เมื่อจบงานสามารถเดินทางไปสนามบินได้สบาย ใกล้กว่าโตเกียวและราคาย่อมเยา
สำหรับการขึ้นรถไฟสายKeiyo ที่สถานี Tokyo ชานชาลาของสายนี้ค่อนข้างห่างไกลจากสายอื่น ใช้เวลาเดินประมาณ 7-8 นาที และรถไฟก็มาเฉลี่ยทุก 10 นาทีด้วย ระวังตกรถนะคะ


 
Pacifico Yokohama (パシフィコ横浜) / จังหวัด Kanagawa
เส้นทางแนะนำ : นั่งรถไฟสาย Minato Mirai (みなとみらい線) ลงสถานี Minato Mirai (みなとみらい駅)
 ศึกษาเส้นทางเพิ่มเติม → www.pacifico.co.jp/english/destination/access/tabid/502/Default.aspx

● ห่างจากสถานี Yokohama เพียง 1 สถานี
● จากรถไฟฟ้าขึ้นบันไดเลื่อนยาวๆ หลายชั้น ออกมาจากอาคารข้ามสะพานลอยก็จะเจอกับสถานที่จัดงานเลย 
● ใกล้แหล่งท่องเที่ยวหลายที่ ใครมีจับมือแค่ช่วงเวลาสั้นๆ นี่แวะเที่ยวต่อได้หลายที่เลย (ฮา)

 
Intex Osaka (インテックス大阪) / จังหวัด Osaka
เส้นทางแนะนำ : นั่งรถไฟสาย New Tram (ニュトラム) หรืออีกชื่อคือ Nankou Port Town (南港ポートタウン線) ลงสถานี Nakafuto (中ふ頭駅) 
ศึกษาเส้นทางเพิ่มเติม → www.intex-osaka.com/en/access

● ปกติจะจัดงานจับมือที่นี่ซิงเกิลละ 1 วัน (หรือไม่จัดเลย) ถ้าโชคดีมากๆ อาจจะเจองานจับมือ (คนละซิงเกิล) ที่จัดติดกัน 2 วัน หรือเป็นงานจับมือ+งานถ่ายรูปอัลบั้ม
● ห่างจากโซนท่องเที่ยวอย่างนัมบะประมาณ 40 นาที


 
สถานที่อื่นก็มี Kyocera Dome (京セラドーム), Nagoya Dome (ナゴヤドーム) ที่นานๆ ไปจัดที

ทุกๆ งานจับมือ AKB48 จะจัด Kitchen Car ขายอาหารในสถานที่จัดงาน เพียงแต่จะได้แค่ความสะดวก แต่ไม่คุ้มราคาเท่าไหร่ หรือออกนอกตัวงานไปก็มีร้านอาหารหลายร้านให้เลือก แต่ถ้าอยากประหยัดงบใกล้ๆ ฮอลล์จัดงานก็มีร้านสะดวกซื้อไว้เป็นตัวเลือก

และคนที่มีสัมภาระเยอะ ทุกที่มี Coin Locker หลากหลายขนาดให้ฝากกระเป๋า เพียงแต่ต้องรีบไปจับจองแต่เช้าหน่อย เพราะเต็มง่ายมาก เนื่องจากแฟนชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดจะเดินทางกลับในวันนั้นกันซะส่วนใหญ่ 


 

สำรวจเลขเลนและแผนผังงาน

ราวๆ 1-2 วันก่อนวันงาน เว็บ akb.kingrecords.co.jp จะมีให้เช็คเลขเลน ผังงาน รวมถึงบอกว่าเมมเบอร์คนนี้สามารถใช้บัตรเปล่าได้หรือไม่ แม้ว่าในงานก็มีให้เช็คเช่นกัน แต่หากเตรียมตัวไว้ก่อนจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น โดยเฉพาะใครที่ลงจับมือไว้หลายคน จะมีไตเติ้ลที่บอกชื่อซิงเกิล / วันที่ / สถานที่จัดงาน แล้วตามด้วย 開催詳細について (รายละเอียดการจัดงาน) ให้คลิกเข้าไปดู

 
 ◆2018年8月11日(土) ・12日(日) = วันที่จัดงาน (ปี/เดือน/วัน)
② 幕張メッセ 国際展示場5〜8ホール = Makuhari Messe Hall 5-8 
 開場 = เวลาเปิดให้เข้าสถานที่จัดงาน
④ 開始 = เวลาเริ่มงานจับมือ
⑤ 終了 = เวลาสิ้นสุด
※ เคสที่แปะลิงก์มา เวลาจับมือวันที่ 10 สิงหาคม ต่างกับเวลาอื่นในรายละเอียดของงานจับมือจึงมีแยกเขียนเวลาเปิดให้เข้างาน
 
สำหรับ Makuhari Messe และ Intex Osaka จะมีหลาย Hall โดยเฉพาะ Makuhari จะอยู่คนละฟากเลย ต้องเช็คให้ดี! 

 
แผนผังงาน
เราสามารถเช็คแผนผังในงานได้ว่าบูธ Information, เลนจับมือ และอื่นๆ จะอยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อประหยัดเวลาการหาในวันจริง

อันนี้ดีตรงที่ชื่อลิงก์เป็นภาษาอังกฤษ อย่างเช่น messe-map.pdf (ตรง messeข้างหน้าเปลี่ยนไปตามสถานที่จัดงาน) 
 
 
เมื่อคลิกเข้าไปดูเราจะพบกับแผนที่หน้าตาเช่นนี้
 
 
แผนผังสถานที่จัดงาน โดยในแต่ละวันจะแตกต่างกันไปตามกิจกรรมและขนาดสถานที่
 

★ นอกฮอลล์

●  金属探知機 / 手荷物検査  : จุดตรวจวัตถุโลหะและสัมภาระติดตัว 
● 生誕祭交流スペース : พื้นที่แลกเปลี่ยนสำหรับงานวันเกิด
 

 

★ ในฮอลล์

● 握手会レーン 1〜17  : ตำแหน่งเลนจับมือ โดยตำแหน่งของตัวเลขนั้นเป็นการบอกว่าริมสุดแต่ละฝั่งเป็นเลนหมายเลขอะไรด้วย
●  インフォメーション  : Information ตรงนี้จะมีทุกอย่างตั้งแต่ปัญหาเรื่องของหาย เก็บของได้ ประทับตรายืนยันบัตร สอบถามอื่นๆ
●  充電コーナー  : มุมชาร์จแบตฯ ซิงเกิลที่มีกิจกรรมอย่างพวกถ่ายวิดีโอ ผู้จัดงานเตรียมมุมไว้ให้ชาร์จแบตฯ มือถือ เพื่อจะได้สนุกกับงานจับมืออย่างเต็มที่ 
●  スペシャルステージ : พื้นที่จัด Special Stage
●  キッチンカー  : Kitchen Car พื้นที่ขายอาหาร

 
เลขเลน / บุที่ใช้บัตรเปล่าได้
ส่วนรายละเอียดเลนงานจับมือ หากเป็นงานจับมือที่จัดติดกันหลายๆ วันจะมีแยกวันไว้ เพราะเลขเลนในแต่ละวันจะไม่เหมือนกัน และยังสามารถตรวจสอบได้จากที่นี่ว่าใช้บัตรเปล่าได้หรือไม่
 
สามารถตรวจสอบได้ตรง 【大握手会】ที่เป็นลิงก์ 201800810-member.pdf (ตรง 20180810เรียงตามปี/เดือน/วัน)  เราจะสามารถเช็คได้ว่าเมมเบอร์อยู่เลนไหน ใช้บัตรเปล่าได้หรือไหม
 
ส่วนตรง 【スペシャルステージ祭り】ที่เป็นลิงก์ 201800810-stage-schedule.pdf (ตรง 20180810เรียงตามปี/เดือน/วัน)  เป็นโซน Special Stage ค่ะ (ไม่ได้มีทุกซิงเกิล)
จากตัวอย่างเมื่อเปิดเข้าไปจะเจอตารางชื่อเมมเบอร์อันลายตา ตารางแถวนอนจะเป็นเวลาจับมือแต่ละบุ ส่วนแถวแนวตั้งจะเป็นเลขเลน 
8/10[★] = ในบุนี้สามารถใช้บัตรเปล่าและบัตรโอชิมาชิได้
②  7/15第5部使用可  = อันนี้เป็นเคสงานจับมือที่ถูกยกเลิกกะทันหัน และสามารถใช้บัตรชดเชยบุนี้ได้ จากตัวอย่างคือให้นำบัตรจับมือของวันที่ 15 ก.ค. บุ 5 (ที่ถูกยกเลิก) มาใช้ในบุนี้ได้
③  *8/10抽選無し  = ไม่มีการสุ่ม สามารถได้ของแถมพิเศษในกิจกรรมนั้นได้เลยโดยไม่ต้องสุ่ม
 
ถ้ามุมขวาของแต่ละบุไม่มีสัญลักษณ์ดาว[★] สีแดงแปลว่าไม่สามารถใช้บัตรเปล่าและบัตรโอชิมาชิได้ในบุนั้นค่ะ
 
 
และเมื่อเช็คทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว…

สุดท้าย! อย่าลืมบัตรจับมือ & Passport!

 

 

เข้าสถานที่จัดงานจับมือ

 

จุดตรวจวัตถุโลหะและสัมภาระติดตัว

ทางเว็บไซต์ทางการของผู้จัดงานเขาเองก็มีอธิบายขั้นตอนพร้อมภาพประกอบเข้าใจง่าย เลยขอยกมาให้ดูคร่าวๆ ค่ะ
 

1) ตรวจบัตรจับมือ โชว์ให้ดูว่ามีบัตรจับมือของวันนี้
 
2) ต่อไปก็เข้าสู่จุด ตรวจสัมภาระและร่างกาย
※จะมีเลนสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะเขียนว่า  女性専用入口 โดยสตาฟที่ตรวจก็จะเป็นผู้หญิง มักจะอยู่ริมสุด


กฎเกี่ยวกับสัมภาระ
● สัมภาระต้องมีแค่ชิ้นเดียวโดยแต่ละด้านห้ามมีขนาดเกิน 90cm (ทั้งกว้าง/ยาว/หนา)
● ห้ามพกของมีคม วัตถุไวไฟทั้งหลายเข้างาน
● ห้ามพกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่ม ต้องดื่มให้สตาฟดู 1 จิบ
ร่มกันฝน ต้องกางให้สตาฟดูก่อน 1 ที
 
เรื่องจำนวนสัมภาระ ทางนี้เคยแวะเที่ยวชินไซบาชิแล้วเผลอซื้อของมา โดนสตาฟเตือนว่าห้ามพกสัมภาระเกิน 1 ใบ เลยต้องเอาของฝากยัดกระเป๋าเป้แบบทุลักทุเล ซึ่งรอดมาได้แบบฉิวเฉียด (ฮา)
 
ส่วนการตรวจของในกระเป๋า จะละเอียดมากหรือน้อยขึ้นกับสตาฟแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่จะละเอียด เช่น เปิดดูกระเป๋าเครื่องสำอางเล็กๆ ที่อยู่ในกระเป๋าใหญ่อีกที และถ้ากระเป๋ามีซิปหน้าก็จะตรวจสอบว่ามีอะไรใส่อยู่ไหม
 
 
3) ตรวจวัตถุโลหะ
 

 
สแกนด้านหน้าก่อน เมื่อเสร็จแล้วก็หมุนตัวหันหลังให้แสกนอีกรอบ
 
จากนั้นก็เข้าสู่ตัวงานได้เลยค่ะ!

 

อย่าลืมแวะ Information! 

คนไทยหลายคนมีปัญหาชื่อยาวเกิน 8 อักษร ซึ่งไม่ตรงตาม Passport ก็ให้มาประทับตราที่นี่ได้ ช่วงเช้าคนจะมารอประทับตากันเยอะมาก เพราะไม่ใช่แค่ชาวต่างชาติอย่างเรา คนญี่ปุ่นบางคนมีปัญหาชื่ออักษรคันจิแบบเก่าที่บัตรจับมือไม่ซัพพอร์ตทำให้คันจิหน้าตาไม่เหมือนกันนั่นเองค่ะ
 
โดยโซน Information จะมีอยู่หลายโต๊ะ ให้สังเกตที่มีคนมายืนรอกันและมีสตาฟประทับตราบัตรจับมืออยู่ โดยจะมีป้ายใหญ่ๆ ติดที่กำแพงว่า CD・握手券に関するお問い合わせ (ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับCD, บัตรจับมือ) แล้วตรงโต๊ะจะมีป้ายเล็กๆ เขียนว่า 旧字・住所変更 (อักษรแบบเก่า, เปลี่ยนที่อยู่) เราก็ยื่นบัตรจับมือวันนั้นและพาสสปอร์ตได้เลยค่ะ

สำหรับงานจับมือของซิงเกิลที่ใช้โหวตเลือกตั้ง จะมี まとめ受付 (เคาน์เตอร์ยื่นรวม) อยู่ที่โต๊ะใกล้ๆเป็นเคาน์เตอร์สำหรับคนที่มีบัตรเยอะๆ เป็นการขอความร่วมมือให้รวมบัตรสำหรับคนที่มีบัตรเกิน 50 ใบ/บุ

แต่ว่า! แค่มีเกิน 10 ใบก็รวมได้แล้ว เพราะจะได้ช่วยลดงานของสตาฟ ไม่ต้องมากกางบัตรนับทีละใบ โดยจะรวม 10 ใบเหลือใบเดียว และมีสติกเกอร์ติดทับว่า เท่ากับ 10 ใบ(ดังภาพ) แนะนำว่าให้ใช้สำหรับบุที่จะยื่นรวมหลายใบแน่นอน เพราะรวมไปแล้วจะมาอยากแยกทีหลังก็ไม่ได้ค่ะ แค่รวมเป็นเซต 10 ใบแล้วยื่นให้สตาฟพร้อมพาสสปอร์ตก็พอค่ะ


 
คำแนะนำ # 1 : ถ้าจับมือหลายคนตั้งแต่บุ 1 แนะนำให้ไปสัก 8:30-8:45 น. จะได้มีเวลาเหลือเฟือรอประทับตรา เผื่อคนแน่น เพราะบางวันคนก็แน่นแปลกๆ บางวันก็โล่ง เดาไม่ค่อยถูกเหมือนกัน
คำแนะนำ # 2 : ถ้าจะรวมบัตรแน่ๆ แวะรวมบัตรก่อนค่อยให้เขาประทับตรา จะได้ลดจำนวนบัตรที่สตาฟต้องประทับตรา และเราก็ใช้เวลารอน้อยลง
 
 

ลุยงานจับมือ

 

เข้าเลนจับมือ

สามารถเข้าไปต่อแถวก่อนเวลาเปิดบุ 10 นาที ที่หน้าเลนมีชื่อเมมเบอร์เขียนเป็นโรมาจิพร้อมบอกเวลาจับมือของบุนี้เสร็จสรรพ โดยเวลาในวงเล็บ ( ) เป็นเวลาที่ปิดรับบัตรจับมือ 
 
Nakai Rika – NGT48
ภาพนี้ค่อนข้างเป็นประเด็นเพราะดันมีแปะกระดาษว่า “วันนี้อารมณ์ไม่ดีเพราะงั้นชิโอะไทโอค่ะ” (ที่มา)
 
ในภาพตัวอย่างมีติดดาว ()  แปลว่าบุนี้สามารถใช้บัตรเปล่าและบัตรโอชิมาชิได้ เงื่อนไขคือหลังเปิดบุ 30 นาทีเป็นต้นไปถึงจะใช้ได้ จากตัวอย่างในภาพนี้เปิดบุ 16:30 น. แปลว่าสามารถใช้บัตรเปล่า/บัตรโอชิมาชิได้หลัง 17:00 น. เป็นต้นไป
 
คำแนะนำ : ถ้าใครมีบัตรจับมือหลายคนในบุเดียวกัน มาคนแรกสุดก่อนเวลาดีกว่าจะได้วนคนอื่นๆ ได้อย่างสบายใจ แต่ว่าทั้งนี้อาจจะดูปัจจัยอื่นด้วย เช่น เมมเบอร์คนนี้ปกติเปิดบุตรงเวลาไหม, บุก่อนหน้าเป็นพวกเกมที่กินเวลาไหม เป็นต้น

 
จำนวนบัตรที่ยื่นได้สูงสุด/ครั้ง

ตั้งแต่เปิดบุ จนถึง นาทีที่ 29
บัตรระบุชื่อเมมเบอร์ 1-3 ใบ
บัตรเปล่า/บัตรโอชิมาชิ ใช้ไม่ได้

นาทีที่ 30 จนถึง นาทีที่ 59
บัตรระบุชื่อเมมเบอร์ ใช้ได้ไม่จำกัด
บัตรเปล่า/บัตรโอชิมาชิ ใช้ได้ไม่เกิน 5 ใบ

นาทีที่ 60 จนถึงปิดบุ 
บัตรระบุชื่อเมมเบอร์ ใช้ได้ไม่จำกัด
บัตรเปล่า/บัตรโอชิมาชิ ใช้ไม่ได้

สำหรับซิงเกิลที่มีให้สุ่มกิจกรรมบัตรเปล่า/โอชิมาชิสามารถทำได้แค่จับมือได้อย่างเดียว โดยที่จะนำมาใช้โอชิมาชิเนี่ย จะเป็นบัตรเมมเบอร์คนไหนก็ได้ของวันที่เดียวกัน ขอแค่เลนปลายทางที่ใช้ติดดาว(ก็พอค่ะ


 

ตรวจบัตรจับมือและหลักฐานยืนยันตัว

เมื่อเข้าไปในเลนก็ยื่นบัตรจับมือจำนวนที่จะยื่นในครั้งนั้น พร้อมพาสสปอร์ต สตาฟก็จะเช็คชื่อเรา โดยสตาฟงานจับมือเนี่ยจะมีทั้งเคร่งและไม่เคร่ง คนเคร่งก็จะอ่านชื่อเราอย่างละเอียด บางคนมีหันไปถามสตาฟข้างๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าเราได้รับตราประทับมาจาก Information ก็ไม่มีปัญหาอะไรผ่านได้อยู่แล้ว
 
การใช้บัตรโอชิมาชิ
บางทีสตาฟจะถามย้ำว่าเราจะใช้สิทธิ์โอชิมาชิไหม (เพราะชื่อเมมเบอร์ที่ระบุไม่ตรงกับที่เราจะใช้) แต่ส่วนตัวจะยื่นบัตรแล้วบอกสตาฟไปเลยว่า “Oshimashi desu (โอชิมาชิครับ/ค่ะ)” หรือ “Oshimashi Tsukaimasu (ใช้โอชิมาชิมาชิครับ/ค่ะ)” เพราะจะได้เร็วๆ (ฮา)

 
กรณีเป็นงานที่ไม่มีสุ่มกิจกรรม (จับมืออย่างเดียว)
ถ้าเป็นงานจับมือที่ไม่มีสุ่มของแถม ก็แค่ยื่นบัตรจับมือที่ต้องการจะจับมือในรอบนั้นพร้อมพาสสปอร์ต สตาฟจะนับบัตร เขียนจำนวนบัตรที่ยื่นพอได้บัตรคืนมาก็เข้าไปต่อแถวข้างในต่อได้เลย

 
กิจกรรมลุ้นสุ่มของแถม (เฉพาะงานที่มี)

 

สุ่มด้วย iPad
ถ้าเป็นงานที่มีกิจกรรมสุ่ม iPad ก็จะมีโต๊ะสุ่มอยู่ติดกับโต๊ะตรวจบัตรเลย

มีปุ่ม 4 ปุ่มให้เลือกปุ่มใดปุ่มหนึ่ง
 
ถ้าขึ้นแบบนี้ (พร้อมเสียงประกอบแบบตื่นเต้น) แปลว่า สุ่มได้ โดยข้อความจะขึ้นเป็นชื่อกิจกรรมที่สุ่มได้
 
ถ้ายื่นหลายใบอย่าใจร้อนรีบกด รอสตาฟกดรีเซตรอบนึงก่อนค่อยสุ่มครั้งต่อไป (ในภาพตัวอย่างคือปุ่มที่สตาฟค้างมือไว้)
ถ้าขึ้นว่า  จับมือ (握手)  แปลว่าวืด
 
วิธีดูจำนวนว่าสุ่มไปแล้วถูกกี่ใบวืดกี่ใบจากตัวอย่างในภาพ
 アバージャケットサイン会  = ลายเซ็น Other Jacket 1 ใบ
 握手  = จับมือ 34 ใบ
 抽選回数  = จำนวนครั้งที่สุ่มไปแล้ว 35 ใบ
 
….ซึ่งเคสนี้ค่อนข้างวืดอย่างโหดร้ายค่ะ (ร้องไห้แทน)
 
 
【กรณีถูก : แบ่งเป็น 2 แบบ】

● แบบ 1-Shot Video หรือ 2-Shot ถ่ายรูป
ถ้าบุนั้นมีให้เลือกถ่ายทั้ง 2 อย่าง บางเลนสามารถติ๊กกรอกได้เองเลย แต่บางเลนสตาฟที่ถือ iPad จะถามเราว่าถ่ายแบบไหน (เราโดนแบบหลังบ่อยมากกว่า) กรณียื่นหลายใบก็ถามว่าอย่างละกี่ใบ จังหวะนี้ใครไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นแนะนำภาษามือค่ะ ชี้ตรง  2S  กับ  1S  ในกระดาษแล้วบอกจำนวนก็ได้
 
สำหรับคนรู้ภาษาญี่ปุ่น
ถ่ายรูปทูชอต ใช้คำว่า “Tsuu Shotto” ถ่ายวิดีโอใช้คำว่า “Douga” เวลาตอบสตาฟก็พูดกิจกรรมที่อยากถ่าย ตามด้วยจำนวนใบแล้วต่อด้วย “…mai (=…ใบ)” 
 
 
ถ้าเป็นแบบให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้วก็ไม่ต้องเลือกอะไรทั้งนั้น 
 
กรณีติ๊กเองกล่องซ้าย  2S写真会 = ถ่ายรูปเซลฟี่ ส่วนกล่องขวา  1S動画会 = 1-Shot Video  
ถ้าเป็นถ่ายรูปทูชอตก็ถือเข้าไปได้เลย ไม่ต้องเขียนอะไร แต่ถ้าเป็น  1-Shot Video  ต้องกรอกช่องด้านขวาดังนี้
① ชื่อเราเป็นคาตาคานะ : เป็นคำอ่านให้เมมเบอร์อ่านชื่อเราออก
② คำลงท้ายชื่อ : วงอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง さん(ซัง)、くん(คุง)、ちゃん(จัง)
③ บทพูดที่จะให้เมมเบอร์พูด : วงเลขหน้าข้อที่จะเลือก โดยบทพูดแต่ละวันจะไม่เหมือนกัน แยกตามธีม/เทศกาลจับมือนั้น อันที่มีทุกรอบก็มีแต่ 1Sファッションショー (1S Fashion Show) โดยข้อที่มี◯◯ในบทพูดคือจะใส่ชื่อเราไปในบทพูดค่ะ 
 
● แบบลายเซ็น (ลายเซ็นพรีเมียมการ์ด,  รูปถ่าย, ปกซีดี)
หน้าตากระดาษลายเซ็น (ที่มา)
 
ชื่อเรา: เขียนเป็นภาษาอังกฤษหรือคาตาคานะภายใน 8 ตัวอักษร
คำลงท้ายชื่อ : วงอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง 様(ท่าน), さん(ซัง)、くん(คุง)、ちゃん(จัง)
 
จะมีโต๊ะให้กรอกฟอร์มเฉพาะเลย กรอกเสร็จก็ไปต่อแถวต่อค่ะ แต่บางเลนคนแน่นมากต้องต่อแถวก่อนพอแถวขยับไปใกล้ๆ โต๊ะ แล้วค่อยกรอกระหว่างต่อแถวก็มี

 
สุ่มแบบเล่นเกมต่อหน้าเมมเบอร์
 
กรณีที่เราต้องไปเล่นเกมสุ่มต่อหน้าเมมเบอร์ ตรงโต๊ะที่ปกติกด iPad สตาฟจะยื่นกระดาษลายเซ็นมาให้กรอกชื่อลงไปล่วงหน้า ถ้ายื่นหลายใบก็จะมีช่องให้กรอกหลายช่องหน่อย เผื่ออยากเปลี่ยนวิธีเรียกตามลำดับ หรือสามารถกรอกช่องเดียวก็ได้ค่ะ ถ้าไม่อยากเปลี่ยนอะไร 

 

เข้าบูธจับมือ 

1) วางสัมภาระไว้ที่ตะกร้า สิ่งที่พกติดตัวไปได้ก็มีพวกบัตรจับมือ กระเป๋าเงิน และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต้องใส่กระเป๋าไว้ 

 
2) ยื่นบัตรจับมือและแบมือให้สตาฟดูว่าไม่มีอะไรในมือ โดยยืนหลังเส้นสีขาวไว้
※ซิงเกิลที่มีกิจกรรมถ่ายรูป/วิดีโอ ถือโทรศัพท์มือถือโดยที่เปิดกล้องค้างรอไว้

 
3) เข้าไปจับมือ
● กรณีจับมืออย่างเดียว : เข้าไปหาเมมเบอร์ทั้งๆ ที่ยังแบมืออย่างนี้ เพื่อให้เห็นว่าไม่มีอะไรในมือ
● กรณีถ่ายรูปคู่อย่างเดียว : ถ่ายรูปคู่ บันทึกภาพ ถ้าเวลาเหลือค่อยจับมือคุยต่อ
● กรณีถ่ายวิดีโออย่างเดียว : เว้นระยะห่างจากเมมเบอร์ กดถ่ายวิดีโอ ถ้าเวลาเหลือค่อยจับมือคุยต่อ
● กรณีสุ่มได้ทั้งถ่ายรูปคู่และวิดีโอ : ถ่ายวิดีโอก่อนแล้วตามด้วยรูปคู่ ถ้าเวลาเหลือค่อยจับมือคุยต่อ
● กรณีสุ่มกิจกรรมต่อหน้าเมมเบอร์ : เล่นกิจกรรมนั้นเสร็จ ถ้าได้ลายเซ็นก็รอ (สามารถชวนคุยได้ระหว่างเซ็น แต่ขึ้นกับว่าเมมเบอร์คุยกับเราด้วยไหม…ฮา) หากเวลาเหลือก็คุยต่อ

เมื่อใกล้หมดเวลาสตาฟจะเตือนว่า “Mamonaku Desu (間も無くです)”
และเมื่อหมดเวลาสตาฟจะพูดว่า “Ojikan desu (お時間です)”

หมดเวลาแล้วก็เก็บกระเป๋าเดินออกจากเลนเป็นอันเสร็จสิ้น

8 วินาทีเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ใครบัตรยังเหลือก็วนใหม่ค่ะ! (ฮา)


 

รอส่งเมมเบอร์หลังจบงานจับมือ

เป็นกิจกรรมที่ทำต่อๆ กันมาในหมู่แฟนๆ หลังจบบุสุดท้ายของเมมเบอร์คนนั้นในแต่ละวัน จะมีการโบกไม้โบกมือเรียกเมมเบอร์ ตะโกน “โอสึคาเระซามะ (ขอบคุณที่เหน็ดเหนื่อย)” หรืออะไรก็ว่าไป แต่ถ้าเป็นซิงเกิลที่มีของสุ่ม จะไม่ใช้เสียงกันเพราะว่าเดี๋ยวเสียงจะเข้าไปตามพวกวิดีโอที่อัด
 
วิธีเข้าร่วมก็ไม่ยากเลยแค่ยืนรอจนกว่าจะจับมือคนสุดท้ายเสร็จ แล้วก็โบกมือลาเมมเบอร์ด้วยรอยยิ้มพร้อมกับแฟนๆ ท่านอื่นค่ะ!
 
แต่จะมีบางวันเป็นโมเมนท์พิเศษหน่อย เช่น อวยพรวันเกิด, แสดงความยินดีเลือกตั้ง หรือสำหรับเมมเบอร์บางคนเป็นงานจับมือรอบสุดท้าย แฟนๆ ก็จะทำป้ายข้อความขนาดใหญ่มาอวยพรหน้าเลน ซึ่งส่วนใหญ่เมมเบอร์ก็จะออกมาถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึกด้วยค่ะ
 
งานจับมือครั้งสุดท้ายของ Tano Yuka – AKB48 (ที่มา)
 
แต่การชูป้ายแบบนี้ใช่ว่าใครจะทำได้นะคะ ในวันงานต้องไปขออนุญาตตรง Information ก่อน ซึ่งต้องระบุเวลาว่าจบบุไหน เลนอะไร แล้วก็ต้องกางป้ายให้สตาฟดูเพื่อตรวจสอบด้วย พอถึงเวลาแล้วจะมีสตาฟเสื้อส้มประมาณ 1-2 คนมารอที่หน้าเลน เพื่อรักษาความเรียบร้อยค่ะ 
 
ถ้าใครมีโอกาสไปงานจับมือที่มีโมเมนท์พิเศษเช่นนี้ ลองแวะไปแถวๆ หน้าเลนเมมเบอร์เหล่านั้นเพื่อเข้าร่วมดูได้นะคะ

 

เก็บตกปัญหา

เวลาไม่พอต้องย้ายเลน? หรือชดเชยวันหลัง?
สำหรับถ้าใครไปต่อแถวช่วงปิดเลน สตาฟจะถือกระดาษไล่ถามตั้งแต่คนสุดท้ายไล่ไปข้างหน้าว่ามีบัตรกี่ใบ ก็ตอบไปหรือยื่นหน้าบัตรให้ดูก็ได้ค่ะ กรณีที่อาจจะไม่ทัน 30 นาทีที่เหลือ สตาฟจะเตือนเราว่า “อาจจะมีโอกาสต้องไปชดเชยภายหลังนะครับ/คะ”
 
อย่างซิงเกิลโหวตเลือกตั้งทุกปีคนจะมีบัตรกันเยอะ หลายปีที่ผ่านมามีปัญหาจบไม่ตรงเวลา เลทไปเยอะมาก ส่งผลให้เมมเบอร์ที่ใช้เลนจับมือบุถัดไปก็พลอยเลทไปด้วย ปีหลังๆ เลยตัดจบให้ตรงเวลา คนที่ไม่ทันเวลาแน่ๆ จะมีใบรับฝาก (お預かり証) ให้

ในช่องกรอก เลขเลน / เลขบุ / จำนวนบัตร ตามลำดับ (ที่มา)
 
เมื่อได้รับแจกกระดาษนี้ในเลนแล้ว ก็ต้องไป Information ดำเนินเรื่องต่อที่จุดลงทะเบียนที่เขียนว่า お預かり証受付 ภายในวันเดียวกัน เพื่อทำการขอชดเชยใชับัตรในวันหลังต่อไป ซึ่งไม่ต้องเป็นต้องใช้รวดเดียว สามารถใช้กระจายได้ด้วย โดยวันที่อยากจะใช้บัตรให้ไปปรึกษาที่ Information ค่ะ
 
แต่สตาฟก็จะพยายามช่วยเราให้ใช้บัตรวันนั้นนะคะ กรณีมีเลนที่ว่างอยู่สตาฟก็จะพาย้ายไปเลนนั้นเพื่อให้จับมือต่อ (ผู้เขียนบทความเคยเจอเหตุการณ์ย้ายเลนตอนงานจับมือวันที่ 15 ต.ค. 2017 กับ 22 ก.ค. 2018 โดยยังไม่เคยได้รับใบนี้ค่ะ) ซึ่งสำหรับแฟนต่างชาติที่บินไป โอกาสบินมาชดเชยวันหลังมีน้อยมาก ยังไงก็ระวังกันไว้ดีกว่าค่ะ

 
ยกเลิกจับมือ…?
บางทีเมมเบอร์ก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพจนต้องยกเลิกจับมือกะทันหัน โดยจะมีประกาศผ่านจอมอนิเตอร์ในงานดังนี้
การยกเลิกจับมือกะทันหันของ Miyawaki Sakura – HKT48 เนื่องจากปัญหาสุขภาพ (ที่มา)
 
お知らせ = ประกาศ
中止のお知らせ = ประกาศยกเลิก
 
หากมีประกาศในงานนี้ต้องคอยดูว่าเป็นเมมเบอร์ที่เราไปจับมือหรือเปล่า หากติดตามประกาศไม่ทันจริงๆ Official Blog จะมีประกาศบอกอย่างละเอียดเช่นกันค่ะ บางทีก็ประกาศหยุดแค่ไม่กี่บุ หรือหยุดทั้งวันเลยต้องคอยติดตามดีๆ 
 
โดยหากเมมเบอร์ไม่เข้าร่วมวันนั้นเราก็สามารถไปชดเชยวันหลังได้ แต่สำหรับแฟนต่างชาติที่บินไปอย่างเราถึงจะน่าเสียดายที่อุตส่าห์ซื้อบัตรมาแล้ว ทางที่ดีที่สุดคือใช้เป็นบัตรโอชิมาชิกับเมมเบอร์อื่นค่ะ… มาภาวนาให้เมมเบอร์สุขภาพแข็งแรงกันดีกว่าค่ะ…
 

Special Stage

มีหลายชื่อเรียกเช่น Stage Event (ไม่ได้มีทุกซิงเกิล) จัดเป็นเวทีที่จะให้เมมเบอร์มาแสดงอะไรก็ได้ในเวลาที่กำหนดตามใจ ที่ฮิตก็คือร้องคาราโอเกะหรือแสดงมินิไลฟ์ แล้วก็มีบางช่วงถ่ายรูปได้ (撮影タイム)
 
Special Stage : Okada Nana & Murayama Yuri 
 

วิธีการดูรายละเอียด

วิธีการลงบัตรก็เหมือนบัตรจับมือแค่แยกออกมาเป็นหมวด Special Stage (スペシャルステージ) หากเป็นสเตจที่ใช้บัตรเปล่าได้ ก็สามารถใช้สิทธิ์โอชิมาชิได้เหมือนบัตรจับมือปกจิ สามารถตรวจสอบได้ก่อนวันงาน 1 วันเช่นเดียวกับกรณีจับมือกับเมมเบอร์ เพียงแต่คนที่ใช้บัตรเปล่าต้องรอเข้าโซนนี้ทีหลัง ให้คนที่มีบัตรสเตจในมือเข้าก่อนค่ะ
 
ตัวอย่างจาก Special Stage ของงานจับมือ Jaabaaja วันที่ 12 ส.ค. 
 
ชื่อสเตจเป็นตัวเลข บนบัตรเราก็โชว์แค่ตัวเลขและเวลา เราต้องตรวจสอบชื่อเมมเบอร์ตั้งแต่ช่วงลงบัตรค่ะ
 
ตรงบัตรเปล่า/บัตรโอชิมาชิ ถ้าเป็น  使用可  = ใช้ได้ ถ้าเป็น 使用不可 = ใช้ไม่ได้

 

ลำดับขั้นตอนเวลาเข้าร่วมกิจกรรม

1) ต่อแถว และก่อนเริ่ม 15 นาทีจะเปิดให้แลกบัตร
2) เมื่อถึงจุดหนึ่งจะให้เราเลือกแถวที่ชอบจากจำนวนทั้งหมด 4-5 แถว สตาฟจะเก็บบัตรสเตจของเรา (หน้าตาเหมือนบัตรจับมือ) แล้วให้จับฉลากจากในกล่องอีกที จะมาก่อนมาหลังก็ไม่เกี่ยว ขึ้นกับดวงล้วนๆ ค่ะ…
 
3) บัตรที่ได้มาจะมีบอก Block ที่จะได้ดู โดยต้องเข้าชมพื้นที่ Block ที่ระบุอยู่ในบัตรเท่านั้น จากในภาพจะเป็น Block E ค่ะ
 
จากนั้นก็สนุกกับกิจกรรมได้เลยค่ะ! ถ้าเป็นไลฟ์ก็มีโบกแท่งไฟ มีคอลล์กันตามปกติค่ะ ถึงจะเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้พูดคุย แต่ก็สามารถสนุกได้ในช่วงเวลา 15 นาทีค่ะ
 
 

เก็บตกรอบงานจับมือ

 

บูธวันเกิด

นอกจากมาจับมือเมมเบอร์แล้ว เรายังสามารถเขียนการ์ดอวยพรวันเกิดให้กับเมมเบอร์ใน 48G ได้ค่ะ ผู้จัดงานจะเตรียมโต๊ะและติดป้ายชื่อเรียงตามวงและทีม (A, K, B, 4, 8, เคงคิวเซ และวงน้องตามลำดับ) ให้เรามาจับจองพื้นที่เปิดรับการ์ด 
 
Murase Sae – NMB48 และเมมเบอร์ NMB48 (ที่มา)
 
โดยเมมเบอร์ที่จะมีบูธได้นั้นต้องเป็นเมมเบอร์ที่มีวันเกิดห่างไม่เกิน 2 เดือนนับจากวันจับมือวันนั้น เคยมีเคสปี 2015 งานจับมือจัดวันที่ 6 กันยายน แต่ Okada Nana (AKB48 Team 4) เกิดวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งเป็น 2 เดือน 1 วันก็อดเปิดบูธรับข้อความในงานจับมือนั้นไปค่ะ 
 
บูธ Kawamoto Saya – AKB48 Team 4 (ที่มา)
 
จากโต๊ะโล่งๆ ก็ถูกตกแต่งให้สวยด้วยฝีมือแฟนๆ เราสามารถเข้าไปเขียนได้เลย เลือกลายการ์ดแล้วก็สีปากกา บางบูธอาจจะมีแจกของให้เราด้วยเป็นการตอบแทน เช่น พัดจากอีเวนท์งานขอบคุณ เป็นต้น ซึ่งการ์ดข้อความจะถูกรวมรวมใส่อัลบั้ม แล้วส่งให้เมมเบอร์เป็นลำดับต่อไปเมื่อจบงานฉลองวันเกิดของเมมเบอร์นั้นที่เธียเตอร์ค่ะ

 

ห้องคุยกับชิไฮนิน (支配人の部屋)

Hosoi Takahiro ผู้จัดการเธียเตอร์คนปัจจุบันของ AKB48 (Twitter)

ฝั่งญี่ปุ่นเองก็มีห้องไว้คุยกับชิไฮนินซึ่งเป็นผู้จัดการหรือคนจากฝั่งบริหารวง มารับฟังความคิดเห็นจากแฟนๆ ค่ะ โดยทาง Official Blog จะมีประกาศให้ลงสุ่ม (ใช่ค่ะ…ยังต้องสุ่ม!!) ทางอีเมลประมาณไม่ถึง 1 สัปดาห์ก่อนงานจับมือ โดยแจ้งชื่อจริงและวันเกิดตัวเอง กรณีอยากไปเป็นหมู่คณะก็ลงแค่ตัวแทนคนเดียวก็พอค่ะ โดยงานจับมือของ AKB48 จะมีตัวแทนจากทุกวงเลย สนใจอยากคุยกับผู้จัดการวงไหนก็เลือกได้เลยค่ะ


 

ของแถม (?) : โซน Catering ของเมมเบอร์

พาร์ทนี้ไม่เกี่ยวกับแฟนๆ อย่างเรา แต่บ่อยครั้งเห็นเมมเบอร์ชอบถ่ายของกินช่วงเบรคงานจับมือมาอวด ก็อดใจไม่ไหวเพราะหลายครั้งรู้สึกว่าอาหารการกินดีมากกกกก

ภาพจาก Instagram Story ของ Macharin
 
ข้าวห่อไข่น่ากินมากค่ะ ถ้าไม่มีแก้วกระดาษกับช้อนพลาสติกแบบนี้นี่จะนึกว่าอยู่ในคาเฟ่ที่ไหนสักแห่ง (ฮา)
 
ภาพจาก Twitter ของ Yoshikawa Nanase (AKB48 Team 8)
 
ส่วนนี่เป็นประเด็นอยู่ประมาณนึง นานาเสะลงรูปของหวานในงานจับมือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ให้ดู เป็นสตรอว์เบอร์รี่ช็อกโกแลตฟองดูว์ ซึ่งงานจับมือวันนี้เมมเบอร์ถ่ายรูปลั้ลลากับของหวานกันเยอะมากค่ะ ธีมเป็นอาหารไทยก็เคยมีแล้ว ถ้าใครสนใจแบบเรา (จะมีไหมนะ?) นับตั้งแต่วันนี้มาลองสังเกตกันเถอะค่ะ

 
จบแล้วสำหรับบทความงานจับมืออันแสนยาว หวังว่าบทความนี้จะทำให้คนเพิ่งมาตาม 48G ได้ไม่นานได้เห็นภาพการจัดงานของฝั่งญี่ปุ่น และหวังว่าหลายคนจะเห็นว่าการเข้าร่วมงานไม่ได้ยากและสนใจไปงานจับมือฝั่งญี่ปุ่นกันมากขึ้นนะคะ อย่ารอให้โอชิเมมแกรดฯ ถ้ามีโอกาสแล้วรีบไปหากันตั้งแต่วันนี้เลยดีกว่าค่ะ! 

source: 1 2 3 4 5